วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไฟฟ้าพลังต้นกล้วย ช่วยรักษ์ธรรมชาติ


โดยผลงานวิจัยและคิดค้นของนางสาวบุญช่วย ชาญประโคน อาจารย์จากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า พร้อมด้วยคณะอีก 2 คน นายชาญวิทย์ ตั้งสิริวรกุล นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายเฉลิมชาติ มานพ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานวิจัยที่ได้มีชื่อผลงานว่า กรรมวิธีการทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า โดยใช้ของเหลวที่ได้จากต้นกล้วยเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์
นางบุญช่วย กล่าวว่า การสร้างพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการใช้ของเหลวที่ได้จากต้นกล้วยเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์นี้ เกิดขึ้นจากความคิดที่ต้องการจะผลิตสื่อการเรียนการสอนที่แปลกใหม่ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ และจากการเรียนในห้องทดลองนักเรียนจะต้องใช้สารละลายกรด-ด่าง อย่างสารละลายอิเล็กโทรไลต์ คุณสมบัติของสารละลายอิเล็กโทรไลต์ส่วนมากเป็นสารเคมี ซึ่งเป็นกรดอนินทรีย์ มีรสเปรี้ยวและมีฤทธิ์กัดกร่อนเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย และยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนิยมนำมาใช้เป็นสารละลายกรดซัลฟิวริก ที่นิยมใช้กันมาก คือ ใช้ในแบตเตอรี่ แต่ในปัจจุบันสามารถใช้สารละลายที่ได้จากธรรมชาติ เช่น กรดแอซิติก กรดมะนาว ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์มาใช้เป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากราคาค่อนข้างแพงและเสียง่าย
ทางคณะผู้วิจัยจึงได้แนวคิดที่จะหาสารที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งคณะผู้วิจัยได้เลือกจากพืชหลายชนิด และพบว่ากล้วย เป็นพืชท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ผลมีรสฝาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารประเภทด่างๆ ที่สามารถนำไฟฟ้าและนำมาเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ได้ และกล้วยยังเป็นพืชที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมีอยู่ทุกภาคของประเทศ ราคาไม่แพง สามารถที่จะทำสารละลายได้เป็นจำนวนมากและได้สารละลายอิเล็กโทรไลต์ที่ราคาไม่แพง และยังเป็นการช่วยชาวไร่ที่ปลูกกล้วยให้มีรายได้อีกด้วย ถ้ามีการผลิตเป็นจำนวนมากในการทดแทนกรดซัลฟิวริกที่ใช้ในแบตเตอรี่
สำหรับส่วนที่นำมาใช้เพื่อทำสารละลายอิเล็กโทรไลต์นั้นสามารถเลือกใช้ทุกส่วนของกล้วยได้ไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้นสดและเน่า ดอกกล้วย ผลดิบ ผลสุก แต่จากผลการทดลองพบว่าของเหลวที่ได้จากลำต้นกล้วยจะให้ค่าต่างๆ ได้สูงกว่าของเหลวที่ได้จากส่วนอื่นของต้นกล้วย และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือปริมาณของของเหลวที่ได้จากลำต้นจะมากกว่าส่วนอื่นของกล้วย โดยของเหลวจากลำต้นกล้วยนี้ได้มาจากการนำลำต้นกล้วยเน่า ซึ่งเป็นการเน่าตามธรรมชาติโดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลา และนำต้นกล้วยเหล่านั้นมาบดให้ละเอียดด้วยการตำหรือปั่น กรองด้วยผ้าขาวบาง
หลังจากได้ของเหลวจากต้นกล้วย นำไปกลั่นโดยใช้เครื่อง Evaportor เมื่อนำของเหลวที่สกัดได้มาใช้เป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ในแบตเตอรี่จำลอง ขนาดแรงดัน 1.5 โวลต์ จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ พบว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี จากการทดลองมีการนำมาทดลองใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการไฟขนาด 1.5 โวลต์ ได้แก่ เกมกด เครื่องคิดเลข เครื่องเสียงขนาดย่อม ของเล่นเด็ก เป็นต้น ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี
นางบุญช่วย กล่าวต่อว่า จากการทดลองพบว่าของเหลวที่ได้จากต้นกล้วย ทำให้ได้สารละลายอิเล็กโทรไลต์ชนิดใหม่ที่ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จัดเตรียมได้ง่าย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่มากมาย และยังสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอนที่ดี และรวมถึงเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด ที่สามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นนี้ ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2546 จากสภาวิจัยแห่งชาติ ทั้งนี้ ทางทีมวิจัย คาดหวังว่าผู้ประกอบการที่ต้องใช้สารเคมี เช่น กรดซัลฟิวริก ให้หันมาใช้พลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการใช้ของเหลวที่ได้จากต้นกล้วยเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ เพราะเป็นพลังงานจากธรรมชาติ ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้และคุณสมบัติใกล้เคียงกัน และราคาถูกกว่ามาก และไม่เป็นอันตรายต่อผู้นำไปใช้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากสรุปผลทดลอง จะพบว่าพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการใช้ของเหลวที่ได้จากต้นกล้วยเป็นสารละลายอิเล็กโทรไลต์ สามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมี เช่น กรดซัลฟิวริกได้ และจากการทดลองดังกล่าวทำให้ทราบว่าของเหลวที่ได้จากลำต้นกล้วยเน่าด้วยวิธีการกรองจะได้ค่าพลังงานไฟฟ้าได้มากที่สุด และค่าพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวจะให้ค่าพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ด้วยการต่อแบบหลายเซลล์ และจากการทดลองได้จำลองเป็นแบตเตอรี่เพื่อประยุกต์ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดย่อม ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีและถ้ามีการใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็น่าจะทำได้ดีเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดลองเปรียบเทียบกับสารละลายกรดซัลฟิวริก สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนคือการเปรียบเทียบในหน่วยที่ต่างกัน โดยสารละลายกรดซัลฟิวริกจะมีหน่วยเป็น โมล/ลิตร ส่วนของเหลวที่ได้จากต้นกล้วยจะเทียบเป็นความเข้มข้น 100%
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Thaipost 27 มค. 2546.

ไม่มีความคิดเห็น: